เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [10. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด 7

13
สังโยชน์1 (กิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพ) 7

1. อนุนยสังโยชน์ (สังโยชน์คือความยินดี2)
2. ปฏิฆสังโยชน์ (สังโยชน์คือความยินร้าย)
3. ทิฏฐิสังโยชน์ (สังโยชน์คือความเห็นผิด)
4. วิจิกิจฉาสังโยชน์ (สังโยชน์คือความลังเลสงสัย)
5. มานสังโยชน์ (สังโยชน์คือความถือตัว)
6. ภวราคสังโยชน์ (สังโยชน์คือความติดใจในภพ)
7. อวิชชาสังโยชน์ (สังโยชน์คือความไม่รู้แจ้ง)

14
อธิกรณสมถธรรม3 (ธรรมเป็นเครื่องระงับอธิกรณ์) 7
เพื่อระงับ เพื่อดับอธิกรณ์4ทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว ๆ
1. สงฆ์พึงให้สัมมุขาวินัย5
2. สงฆ์พึงให้สติวินัย6

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ องฺ.สตฺตก. (แปล) 23/8/14
2 ความยินดี หมายถึงกามราคะ (องฺ.สตฺตก.อ. 3/8/160)
3 ดูเทียบ องฺ.สตฺตก. (แปล) 23/84/179
4 อธิกรณ์ หมายถึงเรื่องที่สงฆ์ต้องดำเนินการ มี 4 อย่าง คือ (1) วิวาทาธิกรณ์ การถกเถียงกันเกี่ยวกับ
พระธรรมวินัย (2) อนุวาทาธิกรณ์ การโจทหรือกล่าวหากันด้วยอาบัติ (3) อาปัตตาธิกรณ์ การต้อง
อาบัติ การปรับอาบัติ และการแก้ไขตัวเองให้พ้นจากอาบัติ (4) กิจจาธิกรณ์ กิจธุระต่าง ๆ ที่สงฆ์จะต้องทำ
เช่น การให้อุปสมบท การให้ผ้ากฐิน เป็นต้น (องฺ.ทุก.อ. 2/15/13) และดู วิ.จู. (แปล) 6/215/245-246)
5-6 สัมมุขาวินัย วิธีระงับอธิกรณ์ ในที่พร้อมหน้า คือต้องพร้อมทั้ง 4 พร้อม คือ (1) พร้อมหน้าสงฆ์
ได้แก่ ภิกษุเข้าร่วม ประชุมครบองค์ประชุมตามที่กำหนดไว้แต่ละกรณี (2) พร้อมหน้าบุคคลได้แก่คู่กรณี
หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นอยู่พร้อมหน้า (3) พร้อมหน้าวัตถุ ได้แก่ ยกเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นมาวินิจฉัย
(4) พร้อมหน้าธรรม ได้แก่ วินิจฉัยถูกต้องตามธรรมวินัย
สติวินัย หมายถึงวิธีระงับอธิกรณ์โดยประกาศให้ทราบว่า พระอรหันต์เป็นพระอริยะ ผู้มีสติสมบูรณ์
เป็นวิธีระงับโดยเอาสติเป็นหลักในกรณีที่มีผู้โจทพระอรหันต์ เป็นการบอกให้รู้ว่า ใครจะโจทพระอรหันต์
ไม่ได้ (วิ.ม. (แปล) 5/400-401/288-291) และดูเทียบ วิ.จู. (แปล) 6/185-212/218-243,
วิ.ป. (แปล) 8/275/370

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :338 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [10. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด 8

3. สงฆ์พึงให้อมูฬหวินัย1
4. สงฆ์พึงให้ปฏิญญาตกรณะ2
5. สงฆ์พึงให้เยภุยยสิกา3
6. สงฆ์พึงให้ตัสสปาปิยสิกา4
7. สงฆ์พึงให้ติณวัตถารกะ5
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย นี้แล คือธรรมหมวดละ 7 ประการ ที่พระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้โดยชอบแล้ว
พวกเราทั้งหมดนี้แหละพึงสังคายนา ไม่พึงวิวาทกันในธรรมนั้น ฯลฯ เพื่อประโยชน์
เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

สังคีติหมวด 7 จบ
ภาณวารที่ 2 จบ

สังคีติหมวด 8

[333] ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมหมวดละ 8 ประการที่พระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้โดยชอบแล้ว
มีอยู่ พวกเราทั้งหมดนี้แหละพึงสังคายนา ไม่พึงวิวาทกันในธรรมนั้น ฯลฯ เพื่อ
ประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
1-5 อมูฬหวินัย หมายถึงวิธีระงับอธิกรณ์โดยยกประโยชน์ให้แก่ภิกษุที่หายเป็นบ้าแล้ว ในกรณีที่มีผู้
โจทภิกษุด้วยอาบัติที่ต้องในขณะเป็นบ้า สงฆ์จะสวดประกาศสมมติเพื่อมิให้ใคร ๆ โจทเธอด้วยอาบัติ
ปฏิญญาตกรณะ หมายถึงวิธีระงับอธิกรณ์โดยปรับอาบัติตามคำรับสารภาพของภิกษุผู้ต้องอาบัติ
เยภุยยสิกา หมายถึงวิธีระงับอธิกรณ์โดยตัดสินตามเสียงข้างมาก สงฆ์จะใช้วิธีการนี้ในกรณีที่บุคคล
หลายฝ่ายมีความเห็นไม่ตรงกัน
ตัสสปาปิยสิกา หมายถึงวิธีระงับอธิกรณ์โดยตัดสินลงโทษผู้กระทำผิด เมื่อสงฆ์พิจารณาตามหลักฐาน
พยานแล้ว เห็นว่ามีความผิดจริง แม้เธอจะไม่รับสารภาพก็ตาม
ติณวัตถารกะ หมายถึงวิธีระงับอธิกรณ์โดยให้ทั้ง 2 ฝ่ายประนีประนอมกัน เปรียบเหมือนเอาหญ้า
กลบไว้ ไม่ต้องชำระสะสางความ วิธีนี้จะใช้ระงับอธิกรณ์ที่ยุ่งยาก เช่น กรณีพิพาทกันของภิกษุชาวกรุง
โกสัมพี (วิ.ม. 5/400-401/288-291/333-335) และ ดูเทียบ วิ.จู. (แปล) 6/185-212/218-243,
วิ.ป. (แปล) 8/275/370

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :339 }